ทรัพยากรป่าไม้จังหวัดนครราชสีมา
จังหวัดนครราชสีมามีพื้นที่ป่าไม้ทั้งหมด ๒,๒๙๗,๗๓๕ ไร่ คิดเป็นร้อยละ ๑๗.๙๔ ของพื้นที่ทั้งจังหวัด ปัจจุบันมีสภาพป่าดิบสมบูรณ์เนื้อที่ประมาณ ๑,๒๔๓,๗๔๓ไร่ คิดเป็นร้อยละ ๙.๗๑ ของพื้นที่ทั้งจังหวัด มีพรรณไม้สำคัญที่ขึ้นอยู่ ได้แก่ ไม้ประดู่ ไม้แดง ไม้มะค่าโมง ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้ยาง ไม้เหียง ไม้พลวง เป็นต้น รองลงมาเป็นป่าผลัดใบสมบูรณ์ร้อยละ ๓.๕๔ ของพื้นที่ทั้งจังหวัด และพื้นที่ป่าผลัดใบรอสภาพฟื้นฟูร้อยละ ๒.๔๘ ของพื้นที่ทั้งจังหวัด โดยมีการกำหนดให้เป็นพื้นที่ป่าไม้ตามกฎหมาย ดังนี้
๑. พื้นที่อุทยานแห่งชาติ จำนวน ๒ แห่ง คืออุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และอุทยานแห่งชาติทับลาน รวมเนื้อที่ประมาณ ๑,๔๑๒,๔๒๕ ไร่
๒. พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน ๒๙ ป่า รวมเนื้อที่ประมาณ ๔,๘๖๔,๒๓๘.๕๐ ไร่ ซึ่งในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๐ และ ๑๗ มีนาคม ๒๕๓๕ จำแนกเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินออกเป็น ๓ เขต คือ
- เขตพื้นที่เหมาะสมการเกษตร (Zone A) เนื้อที่ประมาณ ๙๑,๐๑๒ ไร่
- เขตพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ (Zone C) เนื้อที่ประมาณ ๑,๕๗๕,๒๑๘ ไร่
- เขตพื้นที่ป่าเพื่อเศรษฐกิจ (Zone E) เนื้อที่ประมาณ ๓,๒๘๒,๑๘๖ ไร่
โดยพื้นที่ป่าเพื่อเศรษฐกิจ (Zone E) บางส่วน และพื้นที่เหมาะสมการเกษตร (Zone A) กรมป่าไม้ได้มอบพื้นที่ให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรนำไปปฏิรูปเพื่อเกษตรกรรมแล้ว
จังหวัดนครราชสีมามีภูเขาที่สำคัญ ได้แก่ เขาเขียว เขากบินทร์ เขาบรรทัด เขาสันกำแพง เขาดงพญาเย็น เขาดงพญาไฟ และเขาใหญ่ จากภาพถ่ายดาวเทียม Lansat-TM มาตราส่วน ๑:๕๐,๐๐๐ เมื่อปี ๒๕๔๖

พบว่า จังหวัดนครราชสีมามีพื้นที่ป่าไม้คิดเป็นร้อยละ ๑๕.๗๔ ของพื้นที่จังหวัด หรือคิดเป็นเนื้อที่ ๒,๐๔๕,๒๕๐ ไร่ ต่อมาในปี ๒๕๔๗ พื้นที่ป่าลดลงเหลือร้อยละ ๑๕.๓๗ ของพื้นที่จังหวัดคิดเป็นเนื้อที่ ๑,๙๖๘,๗๐๑.๕ ไร่ ในปี ๒๕๔๘ พื้นที่ป่าลดลงเหลือร้อยละ ๑๕.๒๐ ของพื้นที่จังหวัด หรือคิดเป็นเนื้อที่ ๑,๙๔๕,๙๒๖.๗ ไร่ ต่อมาในปี ๒๕๔๙ จากการแปลภาพถ่ายดาวเทียมและการตรวจสอบภาคพื้นดิน (Ground Check) พบว่าจังหวั
ดนครราชสีมามีพื้นที่ป่าเหลือร้อยละ ๑๔.๒๒ หรือ ๑,๘๒๑,๙๐๐ ไร่ (๒,๙๑๕.๐๔ ตร.กม.) ซึ่งพื้นที่ป่ามีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ เนื่องจากยังคงมีการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าไม้ ทำให้ป่าไม้ลดลงอยู่เสมอและไม่สามารถเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้ถึงเป้าหมายตามที่กำหนดไว้
จากสถานการณ์แนวโน้มของปัญหาดังกล่าวจะเห็นได้ว่าพื้นที่ป่าไม้ของจังหวัดนครราชสีมามีแนวโน้มลดลงทุก ๆ ปี โดยปัญหาสำคัญ คือ การบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าไม้ อันเป็นผลมาจากความไม่ชัดเจนของแนวเขตป่าไม้ ทำให้มีการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ค่อนข้างได้ผลมากที่สุด คือ การจัดทำแนวเขตป่าไม้ให้ชัดเจนควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์ให้ทุกฝ่ายทราบถึงโทษทางกฎหมายของการบุกรุกยึดถือครอบครองพื้นที่ป่าไม้ ตลอดจนการปลูกฝังสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ รวมไปถึงการเร่งส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยการปลูกป่าในที่ดินของรัฐหรือที่ดินของเอกชน การปลูกต้นไม้ในเมือง การปลูกต้นไม้ในที่สาธารณประโยชน์ให้มากยิ่งขึ้น